บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

อตักกาวจโร-เดาเอาไม่ได้


ในบทความ “ธรรมะเห็นได้ยาก” และ “ลักษณะของธรรมะ” ผมได้สรุปไว้ว่า

พุทธวิชาการยอมรับว่า เราสามารถ “เห็น” ดวงธรรมได้ และมีผู้มีดวงตาเห็นธรรมจำนวนมาก แต่พุทธวิชาการไม่สามารถอธิบายได้ว่า ผู้มีดวงตาเห็นธรรมนั้น เห็นอย่างไร และธรรมะมีรูปร่างอย่างไร

สายวิชาธรรมกายสามารถอธิบายได้ว่า ดวงธรรมมีลักษณะเป็นดวงกลมทั้งสิ้น มีขนาดและความละเอียดแตกต่างกันไป

ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดก็คือ สี สีของดวงธรรมะจะเป็นการบอกประเภทเลยว่า ธรรมะหัวข้อนั้น เกี่ยวกับเรื่องอะไร เช่น ดวงตายจะมีลักษณะเป็นสีดำสนิท ดวงแก่ก็มีสีไปทางดำ แต่ไม่ดำร้อยเปอร์เซนต์อย่างดวงตาย เป็นต้น

เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมตามสายวิชชาธรรมกาย เห็นธรรมะนั้น เป็นการเห็นธรรมะโดยรอบ เห็นเมื่อไร ก็จะรู้ไปโดยทันที เป็นอัตโนมัติ

การทั้งรู้ทั้งเห็นจึงทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมตามสายวิชชา “นับถือพระพุทธศาสนา ด้วยความรู้ความเข้าใจชัดเจนของตัวเอง” โดยไม่ต้องถามใครอีกเลยอย่างแท้จริง

ในบันทึกนี้ จะอธิบายลักษณะของพระธรรม ประการที่ 6 จาก 8 ประการ คือ

1) คัมภีโร ลึกซึ้ง
2) ทุททโส เห็นได้ยาก
3) ทุรนุโพโธ ตรัสรู้ตามได้ยาก
4) สันโต สงบระงับ
5) ปณีโต ประณีต
6) อตักกาวจโร ไม่เป็นสิ่งที่ลงเที่ยวแห่งความตรึก คือ เดาเอาไม่ได้
7) นิปุโณ ละเอียดอ่อน
8) ปัณฑิตเวทนีโย อันบัณฑิตพึงรู้ได้ คือ ไม่เหลือวิสัยของผู้มีปัญญา

คุณสุชีพเคยอธิบายประเด็นเกี่ยวกับ “อตักกาวจโร” ไว้ในหลายแห่ง เช่น มีผู้ถามคุณสุชีพว่า

“นิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีเหตุ นิพพานมีลอยๆ ได้หรือไม่ สิ่งที่มีย่อมมาจากสิ่งที่มี สิ่งที่ไม่มี ก็ต้องเป็นสิ่งที่ไม่มี เหตุที่ทำให้พระนิพพานมีหรือไม่? (ผู้ถาม : สุชาติ กอไพศาล)

คุณสุชีพได้ตอบคำถามดังกล่าว ดังนี้

การตอบเรื่องนี้ นอกจากจะขออ้างพระพุทธภาษิตประกอบ 3 แห่งแล้ว จะขออธิบายเปรียบเทียบบางประการ

พระพุทธาษิตแห่งแรก (4/7/8)

“ธรรม นี้ เราบรรลุแล้ว ลึกซึ้ง เห็นได้โดยยาก ตรัสรู้ตามได้โดยยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นที่ลงเที่ยวแห่งความตรึก (อตักกาวจโร) ละเอียดอ่อน แต่บัณฑิตรู้ได้” แสดงว่าจะใช้ตรรกวิทยาเป็นเครื่องกำหนดไม่ได้

พระพุทธภาษิตที่ 2 (25/158/206)

“ดู ก่อนภิกษุทั้งหลาย! อายตนะนั้นมีอยู่ แต่ในอายตนะนั้น ไม่มีธาตุทั้ง 4 ไม่มีอากาสานัญจายตนะ...ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่พระจันทร์ พระอาทิตย์

ไม่มีการมาก ไม่มีการไป ไม่มีการตั้งอยู่ ไม่มีการจุติไป ไม่มีการเกิดขึ้น ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีความเป็นไป ไม่มีอารมณ์ นี้คือที่สุดแห่งทุกข์”

พระพุทธภาษิตที่ 3 อยู่ในหน้าถัดไป (25/160/207)

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! สิ่งที่ไม่เกิด, ไม่เป็น, ไม่มีใครทำ, ไม่มีอะไรปรุงแต่งมีอยู่ เพราะถ้าไม่มี ก็จะมีความหลุดพ้นจากสิ่งที่เกิด ที่เป็น ที่ใครทำ มีอะไรปรุงแต่งไม่ได้”

จากพระพุทธภาษิตทั้ง 3 แห่งที่อ้างมานี้ เป็นการแสดงสถานภาพของพระนิพพาน ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับการเก็งความจริงในทางตรรกวิทยา ที่ว่ามีลอยๆ หรือมีอะไรเป็นเหตุให้มี เป็นต้น

จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น นั้น แสดงว่า หัวข้อธรรมะของศาสนาพุทธนั้น เป็นความจริง (truth) แล้ว ไม่มีความเกี่ยวข้องกับตรรกวิทยาหรือระบบเหตุผลของตะวันตกแต่อย่างใด

ไม่ต้องมาพิสูจน์โดยหลักวิชาการใดๆ อีกแล้ว

ขออธิบายเพิ่มเติมใน เรื่องตรรกวิทยา (logic) ว่า ตรรกวิทยานั้น เป็นเครื่องมือในการค้นหาความจริง (truth)

ตัวตรรกวิทยาเองไม่เนื้อหาวิชา เป็นแต่ วิธีการ เท่านั้น

ดังนั้น สิ่งที่เป็นความจริง (truth) แล้ว ก็ไม่ต้องหาเหตุผลมาประกอบเพื่ออธิบาย ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนถามว่า ทำไมดาวฤกษ์และดาวพระเคราะห์ เช่น ดวงอาทิตย์ โลก ดวงจันทร์ จึงเป็นรูปทรงกลม?

ไม่รู้จะมีนักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบเพื่อ อธิบายหรือให้เหตุผลหรือเปล่า เรื่องนี้ตอบในทางศาสนาพุทธง่ายมากคือ “ตถตา” มันเป็นเช่นนั้นเอง

ก็มันกลมของมันอย่างนั้น ไม่เห็นจะต้องไปหาเหตุผลมาอธิบายให้ปวดหัวทำไม

ประเด็นที่ผมจะกล่าวในที่นี้ก็คือ พุทธวิชาการ เช่นคุณสุชีพนั้น เมื่ออธิบายถึงหัวข้อธรรมะอื่นๆ กลับไม่ยึดถือคำตอบที่ว่า

“ธรรมะเป็นความจริง (truth) แล้ว” กลับไปยกย่อง “เหตุผล” ว่า เป็นสิ่งดีเลิศประเสริฐศรี

จนถึงกลับกล้าประกาศออกมาว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีเหตุผล” ตกลงพุทธวิชาการนี่ ท่านจะเอาอย่างไรแน่

ตัวอย่างที่ 1

มีผู้ถามคุณสุชีพว่า “การทำใจให้หนักแน่น ไม่ด่วนเชื่ออะไรง่ายๆ ไม่ซ้ำเติมใครง่ายๆ เป็นคำสอนเรื่องอะไรในพระพุทธศาสนา?

คุณสุชีพตอบว่า “เป็นคำสอนเรื่องโยนิโสมนสิการ คือ การทำไว้ในใจให้แยบคาย และการใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล”

ตัวอย่างที่ 2

มีผู้ถามคุณสุชีพในอีกแห่งว่า “การโทษสิ่งต่างๆ หรือบุคคลอื่นๆ ของผู้ที่ไม่ยอมรับว่าตัวผิดพลาดอะไรเลยนั้น ควรแก้ไขอย่างไร?

คุณสุชีพตอบว่า “ควรแก้ด้วย การใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล หรือที่เรียกว่า การทำในใจโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ไม่เข้าข้างตัวเองเกินไป ไม่โทษแต่คนเองหรือผู้อื่นฝ่ายเดียว

ตัวอย่างที่ 3

มีผู้ถามคุณสุชีพในเรื่อง ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญอนุศาสนีปาฏิหาริย์มากว่าอิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทสนาปาฏิหาริย์? หลายครั้ง ขอตัวอย่างคำตอบเพียงครั้งเดียวดังนี้

คุณสุชีพตอบว่า

ในบางพระสูตรเช่น เกวัฏฏสูตร (9/338/273) ทรงสรรเสริญอนุศาสนีปาฏิหาริย์ เพื่อชี้แจงให้ชายหนุ่มผู้ปรารถนาดี ซึ่งมาขอให้ส่งพระสาวกผู้เชี่ยวชาญทางฤทธิ์ไปสั่งสอนเพื่อดึงดูดให้มานับถือ ศาสนาพุทธ

ทรงชี้แจงว่า การสั่งสอนได้เป็นอัศจรรย์ สำคัญมากกว่าการแสดงฤทธิ์ (อิทธิปาฏิหาริย์) และการดักทายใจเป็นอัศจรรย์ (อาเทสนาปาฏิหาริย์) เพราะคำสั่งสอนที่มีเหตุผล จะนำให้ประพฤติปฏิบัติได้เข้าถึงธรรมะ

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าไปเน้นเรื่องฤทธิ์ และการดักทายใจเป็นสำคัญ อาจจะมีผู้หลอกลวงเข้ามาทำความเสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนา

แต่ในที่อื่นทรงสรรเสริญภิกษุผู้มีอภินิการครบ 3 คือ ฤทธิ์อ่านใจได้ และ สั่งสอนมีเหตุผลว่า เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา หรือเป็นทักขิเณยบุคคล

รวมความว่า มิได้ทรงปฏิเสธอิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทสนาปาฏิหาริย์ ทรงยกย่องทั้ง 3 ปาฏิหาริย์ แต่ในบางกรณีจะไม่ทรงเน้นเรื่องฤทธิ์ ก็เพื่อต้องการให้เข้าถึงธรรมะอย่างมีเหตุผลไม่ติดในฤทธิ์ จะได้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมีเหตุผล

แล้วทรงแสดงเหตุผลว่า ปาฏิหาริย์ 2 ข้อแรก อาจมีผู้คัดค้านได้ว่า ผู้ที่เรียนคันธาริวิชชาและมณีวิชชา ก็อาจทำได้ สู้การสั่งสอนอย่างมีเหตุผลไม่ได้ พิสูจน์ง่ายๆ ว่า

ที่พระพุทธศาสนาสืบมาจนทุกวันนี้ ก็เพราะมีคำสอนมีเหตุผล อันอาจพิจารณาตามให้เห็นจริงได้

จากข้อความที่ยกไปข้างต้นทั้งหมด ท่านผู้อ่านอาจจะข้อสงสัยใน 2 ประเด็น

1) ทำไมคำอธิบายของพุทธวิชาการไม่อยู่กับร่องกับรอย กลับไปกลับมา ตกลงศาสนาพุทธไม่เกี่ยวข้องกับตรรกวิทยา หรือศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เป็นตรรกวิทยา คือ เป็นไปตามเหตุผล (logic)

2) ทำไมคำอธิบายของพุทธวิชาการจึงดูกลมกลืน ไม่แปลกแยก ผู้อ่านบางท่านยังเข้าใจประเด็นที่ผมกำลังจะชี้ให้เห็น

คำตอบ 1

พุทธวิชาการส่วนใหญ่แล้ว ไม่เชื่อในพระไตรปิฎกทั้งหมด แต่ไปเชื่อศาสตร์ตะวันตกมากกว่า

ศาสตร์ตะวันตกปัจจุบันนี้ เชื่อในระบบ “เหตุผลนิยม” แต่เป็นเหตุผลของชาวตะวันตกเท่านั้น วิทยาศาสตร์ก็อยู่ในระบบเหตุผลนิยม

องค์ความรู้ใดๆ ถ้าไม่เข้ากับระบบเหตุผลนิยมแล้ว องค์ความรู้นั้นไม่เป็นความจริง

ดังนั้น โหราศาสตร์ แพทย์แผนไทย จึงหายไปจากสังคมวิชาการนานมาแล้ว เพิ่งจะมาฟื้นตัวขึ้นใหม่ในเร็วๆ นี้

ดังนั้น คำสอนของศาสนาพุทธอันใดที่พยามยามลากเข้าสู่ระบบเหตุผลนิยมได้ ก็จะได้ลากถูลู่ถูกังเข้ามา 

คำอธิบายพระไตรปิฎกของพุทธวิชาการจึงดูพิลึกพิลั่น หัวมังกุท้ายมังกร ไม่รู้จะไปทางไหนแน่

แต่พุทธศาสนิกชนที่บูชาวิทยาศาสตร์ บูชาศาสตร์ตะวันตกก็เห็นดีเห็นงามตามกันไป

พุทธศนิกชนกลุ่มอื่นเช่น พุทธปฏิบัติธรรม พุทธทั่วไป ก็มองไม่ออก เพราะ มันดูกลมกลืนกันสนิทดี

คำตอบ 2

ศาสนาพุทธนั้น พระพุทธเจ้ายืนยันว่า ผลเกิดจากเหตุ ซึ่งข้อความนี้ ถ้าจะแปลให้ตรงภาษาอังกฤษแล้ว ไม่ตรงกับคำว่า เหตุผล (reason) ที่เป็นผลิตผลของวิชาตรรกวิทยา (logic) คือน่าจะตรงกับคำว่า cause และ effect มากกว่า

คือ ถ้ามีผลอะไรเกิดขึ้นมา ผลนั้นต้องมาจากเหตุใดเหตุหนึ่งเป็นแน่

การที่พุทธวิชาการพยายามอธิบายผลกับเหตุของศาสนาพุทธ ให้เป็นเหตุผล (reason)

พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จึงจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ไม่เข้าใจ ดังนั้น คำอธิบายของพุทธวิชาการจึงดูกลมกลืนดี

โดยสรุป

คุณลักษณะของธรรมะ ที่ว่า “อตักกาวจโร” เป็นหลักฐานยืนยันว่า องค์ความรู้ (body of knowledge) ของศาสนาพุทธเป็นความจริง (truth) แล้ว ไม่ต้องนำเหตุผล (reason) ของวิชาตรรกวิทยา (logic) ไปตรวจสอบอีกว่า ข้อความในพระไตรปิฎกมีความสมเหตุสมผลหรือไม่

พุทธวิชาการส่วนใหญ่หันไปสมาทานศาสตร์ตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ วิทยาศาสตร์ จึงปฏิเสธข้อความในพระไตรปิฎกเป็นจำนวนมาก ว่าเป็นไปไม่ได้ เช่น เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ เป็นต้น

คำอธิบายพระไตรปิฎกของพุทธ วิชาการจึงสับสน ลักลั่น ขัดแย้งกันเอง แต่พุทธวิชาการพยายามแยกย่อยแล้วอธิบายทีละส่วน ไม่ยอมอธิบายให้ครอบคลุมต่อเนื่องอย่างเป็นองค์รวม พุทธศาสนิกชนจึงมองไม่เห็นความบกพร่องเหล่านั้น




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น