บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ธรรมกายคืออะไร


มีผู้ถามคุณสุชีพ ปุญญานุภาพ ในหนังสือ คำตอบ: ปัญหาทางพระพุทธศาสนา เล่ม 2ว่า

ธรรมกายคืออะไร? ในฝ่ายมหายานมาในสูตรหรือคัมภีร์อะไร ขอทราบประวัติสาวกยานและมหายาน

คุณสุชีพตอบคำถามข้างต้นไว้ยาวมาก ดังนี้

ธรรมกายคือกายธรรม คู่กับรูปกาย หรือกายที่เป็นวัตถุ หรือกายเนื้อ

คำ นี้ มีมาในพระสุตตันตปิฎก อัคคัญญสูตร (11/55/91) พระพุทธเจ้าตรัสว่า คำว่า ธรรมกาย พรหมกายเป็นชื่อของตถาคต และในบางพระสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้เห็นเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม (17/216/147)

ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้ากับพระธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นี่เป็นเรื่องธรรมกายฝ่ายเถรวาท คือ พระพุทธศาสนาที่นับถือกันในประเทศไทย

ส่วน ในฝ่ายมหายานแบ่งพระกายของพระพุทธเจ้าออกเป็น 3 คือ นิรมาณกาย พระกายนิรมิต หรือพระกายเนื้อ ที่แสงดแสดงให้ปรากฏแก่มนุษย์ทั้งหลาย สัมโภคกายหรือพระกายแห่งความสุข ธรรมกาย พระกายธรรม ซึ่งทางมหายานถือว่าสำคัญยิ่ง

เรื่อง ธรรมกายในฝ่ายมหายานนั้น ศาสตราจารย์วิง-สิต ชาน (Prof. Wing-Tsit Chan) ได้เขียนชี้แจงในเรื่องตรีกายไว้ว่า เรื่องตรีกายหรือกาย 3 ของมหายานเกิดขึ้นประมาณศตวรรษที่ 2 และมาเข้มข้นจริงจังขึ้นประมาณศตวรรษที่ 5 แห่ง ค.ศ. (เทียบเท่าพุทธศตวรรษที่ 8 และที่ 11 ตามลำดับ)

เรื่องธรรมกายมีมา ในคัมภีร์มหายานหลายเรื่อง ขออ้างโศลกในสัทธรรมปุณฑริกสูตร ฉบับอักษรเทวนาครี พิมพ์ที่กัลกัตตา อินเดีย ปี 1953 (พ.ศ. 2496ฉ ท้ายบทที่ 5 หน้า 101 ดังนี้

ผู้นั้นมีปัญญามาก ย่อมเห็นธรรมกายอย่างถี่ถ้วน ยานทั้ง 3 (สาวกยาน ปัจเจกพุทธยาน และโพธิสัตว์ยาน) ไม่มีเลยในศาสนนี้ มีแต่ยานเดียว (เอกยาน) เท่านั้น

สุซูกิ อ้างข้อความในอวตังสกสูตร (ของมหายาน) ในหนังสือเรื่อง สังเขปพระพุทธศาสนามหายาน (Outlines of Mahayana Buddhism) หน้า 223-4 ดังนี้ ธรรมกาย แม้จะแสดงตัวเองได้ในโลกทั้ง 3 แต่ก็เป็นอิสระจากความไม่บริสุทธ็ และความทะยานอยากทั้งหลาย..

ส่วนประวัติสาวกยาน และมหายานนั้น เดิมมีเพียงเถรวาท หรือพระพุทธศาสนาแบบที่ไทยเรานับถืออยู่นี้ ต่อมา เมื่อประมาณ พ.ศ. 100 ล่วงแล้ว ภิกษุวัชชีบุตรแยกตัวไปเป็นมหาสังฆิกะ

และต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นมหายาน ก็มีการเรียกเถรวาทว่า หีนยาน (ยานเลว ยานเล็ก) คือ นำสัตว์ให้หลุดพ้นได้น้อย มหายาน (ยานใหญ่) นำสัตว์ให้หลุดพ้นได้มาก

เถรวาท หรือหีนยานเป็นสาวกยาน ยานสำหรับสาวก ส่วนมหายานเป็นโพธิสัตวยาน ยานสำหรับผู้จะเป็นพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องของการแข่งขันกัน และพูดกดอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ในสัทธรรมปุณฑริกสูตรที่อ้างมาแล้ว ยุบเหลือเพียงยานเดียว คือ เอกยาน

คำตอบของคุณสุชีพดังกล่าวนั้น เป็นหลักฐานอันดีที่จะชี้ให้เห็นว่า พุทธวิชาการได้ผลักองค์ความรู้ของพระปฏิบัติธรรมออกไปสู่ ชายขอบ

พุทธวิชาการเห็นว่า ผลจากการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่องเหลวไหล ไม่เป็นความจริง (truth) ผลที่ได้จากการปฏิบัติธรรมเป็นการเพ้อฝันส่วนตัวของพระเหล่านั้น

คนถามคงจะได้ยินความมีชื่อเสียงของวิชาธรรมกาย จึงอยากมาถามเพื่อได้ความแน่นอนในทางวิชาการ

คุณสุชีพก็ตอบไปดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ไม่ได้นำหนังสือที่ลูกศิษย์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำเขียนเผยแพร่นับเป็น 10 เล่มเข้ามาเป็นเอกสารในการตอบคำถามด้วย

ที่ว่า หนังสือที่ลูกศิษย์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำเขียนเผยแพร่นั้น ไม่ใช่ลูกศิษย์เขียนขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการเอาคำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำมาเขียน

พุทธวิชาการทำเหมือนว่า คำสอนของวิชาธรรมกายจำนวนหลายสิบเล่มนั้น ไม่มีตัวตน

ถ้าถามว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?”

ผมตอบได้ทันทีว่าในฐานะที่เป็นนักวิชาการด้วยคนหนึ่งว่า นักวิชาการเชื่อเฉพาะองค์ความรู้จากทางตะวันตกว่า เป็นความจริง (truth) แล้วเท่านั้น องค์ความรู้จากแหล่งอื่นๆ ไม่จริงทั้งหมด

มีส่วนเป็นความจริงบ้าง ส่วนนั้นก็ต้องรับรองได้ด้วยเหตุผลกับวิทยาศาสตร์ ถ้า 2 สิ่งดังกล่าวรับรองไม่ได้ องค์ความรู้อื่นๆ ไม่จริง

คุณสุชีพตอบคำถามว่า

ธรรมกาย คือกายธรรม คู่กับรูปกาย เป็นการแสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้ากับพระธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ในพระสุตตันตปิฎก อัคคัญญสูตร (11/55/91) พระพุทธเจ้าตรัสว่า คำว่าธรรมกาย พรหมกายเป็นชื่อของตถาคต และ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม (17/216/147)

คุณสุชีพตอบได้เพียงเท่านี้

ซึ่งในความคิดของผม ไม่ได้ประเทืองปัญญาคนถามเลย คนถามไม่ได้ความกระจ่างเลยว่า ที่คุณสุชีพตอบนั้น หมายความว่าอย่างไร

กล่าวคือ เข้าใจความหมายที่คุณสุชีพตอบมา แต่มันเป็นอย่างไรล่ะ จะทำอย่างไรล่ะ ไม่มีอยู่ในคำตอบของคุณสุชีพ

ในทางวิชาธรรมกายอธิบายไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากอยู่ในระดับพื้นฐานของวิชาธรรมกาย คือ แค่ฝึกวิชา 18 กายก็จะ รู้และ เห็นเลยว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรมเป็นอย่างไร

ธรรมะต่างๆ นั้น มีลักษณะเป็นดวงกลมทั้งสิ้น สี ความละเอียด ขนาดจะแตกต่างกันไป ความแตกต่างมีเป็น infinity คือ นับไม่ถ้วน ไม่ต้องไปคำนึงถึง

ถ้าเทียบกับทางวิทยาศาสตร์ก็คือ ความกว้างใหญ่ของอนันตจักรวาล ( multi-universe, multi-verse) ยกกำลัง infinity นั่นแหละ สรุปว่า เราไม่รู้ว่า ความละเอียดและขนาดของดวงธรรมมีไปอีกเท่าไหร่

เด็กนักเรียนนี่ เมื่อสอนครั้งแรก ดวงธรรมของกายมนุษย์หยาบของเขาส่วนใหญ่จะเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ แต่เมื่อฝึกไปมากๆ เข้า ดวงธรรมของกายมนุษย์หยาบจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

เด็กบางคนบอกผมว่า ดวงธรรมของเขาใหญ่กว่าลูกฟุตบอล

ตอนที่เด็กนักเรียนคนนี้บอกผม ผมสอนเขาไปเกือบ 2 ปีแล้ว (ไปสอนสัปดาห์เว้นสัปดาห์ สอนทั้งโรงเรียน ชื่อโรงเรียนบ้านบุใหญ่ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา)

สำหรับดวงธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ใหญ่เท่าหน้าตักของพระองค์ ดังนั้น ในท่าประทับนั่ง จึงดูเหมือนว่า พระพุทธองค์นั่งอยู่ในดวงธรรม

ถ้าใครปฏิบัติธรรมตามวิชาธรรมกายถูกต้อง เมื่อเห็นดวงธรรมก็ต้องเห็นพระพุทธเจ้า เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าก็ต้องเห็นดวงธรรม

จะเห็นได้ว่า สายวิชาธรรมกายตอบปัญหาที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรมได้ชัดเจนที่สุด

คำตอบที่ดีกว่าพุทธวิชาการ จนพุทธวิชาการทำไม่ได้ก็คือ มีผู้ปฏิบัติตามได้ เห็นได้ รู้ได้ เฉพาะตัวเองนี่ ทั้งสอนเอง เป็นผู้ช่วยคนอื่นสอน จำนวนผู้เรียนเกิน 100,000 คนไปแล้ว (เป็นการนับซ้ำ ดังนั้น ตัวนักเรียนจริงไม่ถึงแสน คือ สอนครั้งหนึ่งเราก็นับ 1 คน นักเรียนบางคนเราสอนเป็นสิบครั้ง)

วิทยากรของคุณลุงการุณย์ บุญมานุชที่สอนอยู่ในปัจจุบันนี้ มีประมาณร้อยกว่าคน

สำหรับที่ทางมหายาน พยายามอธิบายเรื่อง เอกยานซึ่งคุณสุชีพเองไม่เข้าใจและตอบไม่ได้ด้วย แต่พยายามจะตอบโดยไปยกคำพูดของท่านผู้โน้นมา ท่านผู้นี้มานั้น  สายวิชาธรรมกายตอบได้ง่ายมาก

ในอนัตตจักรวาลนี้ พระพุทธเจ้ามีอยู่ 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายพระ/ภาคขาว ฝ่ายมาร/ภาคดำ และฝ่ายเป็นกลาง/ภาคสีตะกั่ว

คนทุกคนเป็นคนของฝ่ายพระ ดังนั้น ใจ/จิต/วิญญาณจึงใสทั้งหมด ภาคพระมีหน้าที่ส่งเสริมให้คนกระทำความดี จนกระทั่งบารมีครบ 30 ทัศ ก็จะเป็นอะไรไปตามที่อธิษฐานไว้

คำว่า จะเป็นอะไรก็คือ พระอรหันต์สาวก พระสัพพัญญูพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้าจักรพรรดิ [ไม่ใช่จักรพรรดิอย่างนโปเลียน]

ภาคมาร นั้น มีหน้าที่ทำให้คนกระทำความชั่ว จึงเอากิเลส ฯลฯ มายุยุงส่งเสริมให้มนุษย์ทำ ใจ/จิต/วิญญาณที่เดิมใสอยู่ ก็กลายเป็นดำ กลายเป็นสาวกของมาร

ภาคกลางก็ส่งเสริมให้คนไม่กระทำอะไร ทั้งในทางบุญและทางบาป ให้อยู่เฉยๆ ว่างั้นเถอะ

ศาสนาเดิมของภาคพระก็คือ วิชาธรรมกายนี่แหละ เป็นเอกยาน ยานเดียวเท่านั้น ที่จะพามนุษย์ไปนิพพานได้

มารท่านแทรกแซง ยุแหย่ จนเกิดเป็นศาสนาอื่นๆ ขึ้น ในศาสนาพุทธเดียวกัน ก็ยุแหย่ให้แตกแยกเป็นนิกายโน้น นิกายนี้

ทางฝ่ายมหายานนั้น มีความรู้เรื่องนี้ดี จึงรู้เรื่อง เอกยานแต่หาคนปฏิบัติไม่ได้แล้ว จึงได้แต่ รู้เท่านั้น

โดยสรุป

ดวงธรรมของพระพุทธเจ้านั้น กว้างเท่าหน้าตักของพระองค์ เมื่อเห็นดวงธรรมของพระองค์ ก็จะเห็นพระองค์ด้วย พร้อมกัน

พระองค์จึงตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม

วิชาธรรมกายเป็นวิชาเดียวของธรรมะภาคขาว ทางมหายานจึงเรียกว่า เอกยานแต่ธรรมะภาคมาร ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมให้คนทำความชั่ว เข้ายุยง แทรกแซงจนเกิดเป็นศาสนาอื่นๆ และเกิดนิกายอื่นๆ ในศาสนาพุทธ

ใจ/จิต/วิญญาณ ของคุณทุกคนจะ ใสมาแต่เดิม เพราะ คนทุกคนเป็นของธรรมะภาคขาว ธรรมะภาคมาร นำความชั่วต่างๆ มาใส่ให้ และยุยงให้คนกระทำความชั่ว ใจ/จิต/วิญญาณจึงมีสีออกไปทางดำ จนถึงดำสนิท

เมื่อ ใจ/จิต/วิญญาณ มีสีดำสนิท ก็จะกลายเป็นสาวกของมารเต็มตัว ตัวอย่างในโลกนี้ ในเมืองไทยนี้ก็มีให้เห็น

ยกตัวอย่างต่างชาติดีกว่า ปลอดภัย เช่น ซัดดัม ฮิตเลอร์ เป็นต้น คนไทยก็นึกเอาเองว่าเป็นใคร ไอ้ที่ทำให้สังคมไทย แตกแยก เกิดความวุ่นวายไปทั่ว ก็นั่นแหละ....




ลักษณะของธรรมะ


ในบทความ “ธรรมะเห็นได้ยาก” พอสรุปได้ว่า

“ธรรมของพระพุทธเจ้าเห็นได้ยาก แต่ก็มีคนเห็นธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน”

พุทธวิชาการยอมรับว่า เราสามารถ “เห็น” ธรรมะได้ และมีผู้มีดวงตาเห็นธรรมจำนวนมาก แต่พุทธวิชาการไม่เคยอธิบายได้เลยว่า ผู้มีดวงตาเห็นธรรมนั้น เห็นอย่างไร และธรรมะมีรูปร่างอย่างไร

พุทธวิชาการได้แต่เพียงเดาว่า

“ท่านผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระอริยบุคคล โดยทั่วไป หมายถึง พระโสดาบัน แต่ในที่บางแห่ง หมายถึง พระอริยบุคคล 3 ระดับ”

ปัญหาที่พุทธวิชาการไม่สามารถอธิบายได้นั้น สามารถอธิบายได้จากการปฏิบัติธรรมตามสายวิชาธรรมกาย ดังนี้

หัวข้อธรรมะทุกหัวข้อธรรมะ มีลักษณะเป็นดวงกลมทั้งสิ้น ต่างกันที่ความละเอียด ความเล็กใหญ่ และสี

คำว่า “สี” นั้น ภาษาธรรมะก็คือ “วรรณะ”

สี” หรือ “วรรณะ” นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเห็นของกายมนุษย์หยาบหรือกายเนื้อ ไม่ว่า “สิ่งใด” จะมีขนาดใหญ่ขนาดไหนก็ตาม ถ้าไม่มีสีหรือวรรณะ เราไม่สามารถจะเห็นสิ่งเหล่านั้นได้เลย นี่พูดกันอย่างภาษาธรรมะ

ถ้าพูดกันอย่างเป็นวิชาการ การเห็นต้องมีปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ “แสง”

กล่าวคือ ถึงแม้วัตถุจะมีขนาด มีสีแล้วก็ตาม แต่ถ้าไม่มีแสงด้วย เราก็ไม่สามารถเห็นวัตถุเหล่านั้นได้เลย ยกตัวย่างเช่น หลุมดำ (black hole)

หลุมดำนี่ มีสีอะไรยังไม่ทราบเหมือนกัน หรืออาจจะมีหลายสีก็มีสิทธิ์เป็นไปได้ แต่หลุมดำ มีแรงโน้มถ่วงสูงมาก แสงจึงไม่สามารถออกมาจากหลุมดำได้ มนุษย์จึงไม่สามารถมองเห็นหลุมดำได้

ตัวอย่างหลุมดำอาจจะยากไป เอาตัวอย่างที่ง่ายขึ้น ในห้องนอนของเราก็แล้วกัน เราก็รู้อยู่ว่า มีสิ่งของอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง

สิ่งที่เราเห็นอยู่นั้น ลองนั่งที่เดิม แต่ไม่มีแสงๆ เลย มีความมืด 100 % ก็แล้วกัน เราก็ไม่สามารถจะเห็นอะไรได้เลย แม้กระทั่งลายมือของเราเอง

หัวข้อธรรมะทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ มีทั้งอย่างหยาบ และละเอียด คำว่า “หยาบ” และ “ละเอียด” ที่ว่านั้น มีหยาบมากขึ้น และละเอียดมากขึ้นไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกนิดก็คือ

หัวข้อธรรมะหยาบอย่างธรรมดา เราก็สามารถมองเห็นได้ด้วยตาของกายมนุษย์ เช่น ความเจ็บ ความแก่ ความตายเป็นต้น

แต่หัวข้อธรรมะอย่างหยาบ ที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาของกายมนุษย์ แต่มองเห็นได้ด้วยตาของกายธรรมก็มี

หยาบยิ่งกว่าของในโลกนี้อีก นี่ไม่ต้องพูดถึงหัวข้อธรรมะที่ละเอียดๆ

กลับมาที่ลักษณะของธรรมะ ขอย้ำอีกครั้งว่า “ธรรมะ” มีลักษณะเป็นดวงกลมทั้งสิ้น ต่างกันที่ความละเอียด ความเล็กใหญ่ และสี

หัวข้อธรรมะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ภาคพระจะมีสีขาวใส ภาคมารที่จะสีไปทางดำจนถึงดำสนิท ส่วนภาคกลางนั้น จะมีสีตะกั่ว

ธรรมะทุกข้อจะมีจุดศูนย์กลางเดียวกัน คือ ที่ในท้อง เหนือสะดือ 2 นิ้วมือ มีระยะเท่ากับนิ้วหัวแม่มือของมือซ้ายกับมือขวาซ้อนกัน ถ้าเอาสะดวกๆ ก็ความกว้างของนิ้วชี้กับนิ้วกลางรวมกัน

ณ บริเวณ เหนือสะดือ 2 นิ้วมือ ในท้องของใครของมันนั้น ในทางวิชาธรรมกายคือ จุดศูนย์กลางกาย 

หัวข้อธรรมะทุกหัวข้อมีลักษณะเป็นดวงกลมเหมือนกัน มีจุดศูนย์กลางเดียวกัน ดวงธรรมทุกดวงที่ว่านั้น มีความหยาบละเอียดแตกต่างกันไป อย่างไม่ต้องจินตนาการ มีจุดศูนย์กลางเดียวกันที่จุดนี้

เมื่อเราจะศึกษาธรรมะหัวข้อใด  ดวงธรรมะนั้นก็จะปรากฏออกมาให้เราศึกษา ดวงธรรมะอื่นๆ เราก็ไม่เห็น  แต่เมื่อถึงเวลาจะศึกษา ดวงธรรมะนั้นก็ออกปรากฏให้เห็นขึ้นมา

คำอธิบายของสายวิชาธรรมกายข้างต้นนั้น จึงสามารถอธิบายคำว่า “ทางสายกลางเดียว” ที่มีคำแปลภาษาบาลีไปต่างๆ กัน เช่น ทางสายกลาง ทางสายเอก ทางสายเดียว ฯลฯ ได้ถูกต้องตรงเผงกับพระไตรปิฎก

ไม่มีคำอธิบายของพุทธวิชาการใดๆ หรือสายปฏิบัติธรรมใดๆ อธิบายได้อย่างชัดเจนเท่ากับคำอธิบายของสายวิชาธรรมกาย

จะเห็นว่า

พุทธวิชาการยอมรับว่า เราสามารถ “เห็น” ดวงธรรมได้ และมีผู้มีดวงตาเห็นธรรมจำนวนมาก แต่พุทธวิชาการไม่เคยอธิบายได้เลยว่า ผู้มีดวงตาเห็นธรรมนั้น เห็นอย่างไร และธรรมะมีรูปร่างอย่างไร

สายวิชาธรรมกายสามารถอธิบายได้ว่า ดวงธรรมมีลักษณะเป็นดวงกลมทั้งสิ้น มีขนาดและความละเอียดแตกต่างกันไป

หัวข้อธรรมะทุกหัวข้อที่จุดศูนย์กลางเดียวกันที่ในท้องเหนือสะดือ 2 นิ้วมือ จุดนี้คือ ทางสายกลาง และเป็นทางสายเดียวที่จะพาเราไปพระนิพพานได้ ด้วยการปฏิบัติธรรมตามสายวิชาธรรมกาย

มีนักเรียน/นักศึกษาเป็นจำนวนมากที่สามารถปฏิบัติตามคำสอนของวิชาธรรมกายได้ ทั้งนักเรียนปกติและนักเรียนที่ผิดปกติ คือ เด็กปัญญา เด็กหู และเด็กตา

ต่อไป ผมขอจะขอเน้นอธิบายเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้มีดวงตาเห็นธรรม เพื่อความสะดวกในการอ่านของผู้อ่าน

ผมจึงขอยกคุณสมบัติของผู้มีดวงตาเห็นธรรมมาให้อ่านใหม่ ทั้ง 8 ข้อ ดังนี้

1) ทิฏฐธัมโม ผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว
2) ปัตตธัมโม ผู้มีธรรมอันบรรลุแล้ว
3) วิทิตโมโม ผู้มีธรรมอันทราบหรือรู้แล้ว
4) ปริโยคาฬหธัมโม ผู้มีธรรมอันหยั่งลงโดยรอบแล้ว
5) ติณณวิจกกิจโฉ ผู้มีความสงสัยอันข้ามได้แล้ว
6) วิคตกกังกโถ ผู้ไม่ต้องถามว่าเป็นอย่างไร
7) เวสารัชชัปปัตโต ผู้บรรลุความกล้าหาญ
8) อปรัปปัจจโย พุทธสาสเน ผู้ไม่ต้องมีผู้อื่นเป็นปัจจัยในพระพุทธศาสนา คือ ไม่ต้องนับถือพระพุทธศาสนา เพราะ เชื่อคนนั้นคนนี้ แต่นับถือด้วยความรู้ความเข้าใจชัดเจนของตัวเอง


ขอให้ผู้อ่านดูข้อ 1 กับ ข้อ 8 ก่อน

1) ทิฏฐธัมโม ผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว
8) อปรัปปัจจโย พุทธสาสเน ผู้ไม่ต้องมีผู้อื่นเป็นปัจจัยในพระพุทธศาสนา คือ ไม่ต้องนับถือพระพุทธศาสนา เพราะ เชื่อคนนั้นคนนี้ แต่นับถือด้วยความรู้ความเข้าใจชัดเจนของตัวเอง

คุณสมบัติของผู้มีดวงตาเห็นธรรม 2 ข้อนี้ สรุปได้ว่า ผู้มีดวงเห็นธรรมนั้น พอเห็นธรรมแล้ว ก็จะนับถือศาสนาแบบ “ความรู้ความเข้าใจชัดเจนของตัวเอง” โดยคำอธิบายของคุณสุชีพ

ก็เช่นเดียวกับคำอธิบายของคุณสุชีพ หรือพุทธวิชาการคนอื่นๆ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า “ผู้ไม่ต้องนับถือพระพุทธศาสนา เพราะ เชื่อคนนั้นคนนี้ แต่ผู้ไม่ต้องมีผู้อื่นเป็นปัจจัยในพระพุทธศาสนา

คือ ไม่ต้องนับถือพระพุทธศาสนา เพราะ เชื่อคนนั้นคนนี้ แต่นับถือด้วยความรู้ความเข้าใจชัดเจนของตัวเอง” นั้น เป็นอย่างไร

ในทางวิชาธรรมกายนั้น ในการเห็นหัวข้อธรรมะต่างๆ นั้น ผู้ปฏิบัติจะ “เห็น” จริงๆ ด้วยตาของกายภายในต่างๆ พอ “เห็น” แล้วก็จะ “รู้” ทันที

การ “ทั้งรู้ทั้งเห็น” ด้วยตนเอง ซึ่งก็ตรงกับคำศัพท์ของไตรปิฎกอย่างตรงเผงอีก คือ คำว่า “ญาณทัสสนะ”

คำว่า “ญาณ” แปลว่า “รู้” คำว่า “ทัสสนะ” แปลว่า “เห็น” คำนี้ มีพบทั่วไปในพระไตรปิฎก ส่วนใหญ่ส่วนพุทธวิชาการไม่ค่อยแปลความหมายให้ผู้อ่านเข้าใจ มักจะใช้คำทับศัพท์ไปเลย

ผู้อ่านจำนวนมาก เลยไม่เข้าใจความหมายของคำสำคัญนี้

คำว่า “ญาณทัสสนะ” เป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า ในการศึกษาทางศาสนาพุทธนั้น จะต้องมี “การรู้” กับ “การเห็น” ไปด้วยกันอย่างแยกกันไม่ได้

การที่คนใดคนหนึ่ง ทั้ง “เห็น” และก็ “รู้” ไปด้วย จึงทำให้บุคคลผู้นั้น “นับถือพระพุทธศาสนา ด้วยความรู้ความเข้าใจชัดเจนของตัวเอง” ไม่ต้องถามใครอีกเลย

หลักฐานสนับสนุน

ผมเป็นวิทยาการสอนธรรมะซึ่งเป็นลูกศิษย์ของคุณลุงการุณย์ บุญมานุช สอนธรรมะในนามของ “มูลนิธิศึกษาการุณย์” วิทยากรของเรามีหลายสิบคน จากหลากหลายอาชีพ

มีวิทยากรคนหนึ่ง เป็นสุภาพสตรี อาชีพเป็นเทคนิคการแพทย์ ปัจจุบันอายุประมาณ 26 ปี เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม

เพื่อนของสุภาพสตรีผู้นี้ ขอร้องให้ท่านผู้นี้ ลองฝึกวิชาธรรมกายครั้งหนึ่ง ก่อนหน้านี้ สุภาพสตรีท่านนี้ ไม่เคยรู้จักวิชาธรรมกายมาก่อน ไม่เคยรู้จักพระพุทธเจ้า ไม่เคยรู้จักจักรพรรดิ

สุภาพสตรีท่านนี้ ฝึกครั้งเดียว ได้วิชาธรรมกายชั้นสูงเลย คุณลุงการุณย์ บุญมานุชยืนยันว่า เท่าที่มีลูกศิษย์ คนนี้ทำวิชาได้สูงกว่าคนอื่น ทำวิชาได้สูงกว่าลูกศิษย์ที่เป็นพุทธตั้งแต่เกิดเสียอีก

ท่านผู้นี้ เป็นตัวอย่างของบุคคลที่ “นับถือพระพุทธศาสนา ด้วยความรู้ความเข้าใจชัดเจนของตัวเอง” โดยไม่ต้องถามใครอีกเลยอย่างแท้จริง

ผมเสียอีกบางครั้ง ต้องไปถามความรู้จากท่าน ในบางครั้ง เราต้องการทราบความเห็นของพระพุทธเจ้า ก็ต้องไปให้ ท่านผู้นี้ให้ถามให้

ใครอยากทราบ อยากรู้จัก บุคคลผู้นี้ ก็มาเข้าเป็นวิทยากรร่วมกับเรา รับรองพบท่านผู้นี้แน่ๆ

ต่อไปคือ คุณสมบัติของผู้มีดวงตาเห็นธรรมในข้อที่ 4 ปริโยคาฬหธัมโม ผู้มีธรรมอันหยั่งลงโดยรอบแล้ว”

ข้อความนี้ อีกเช่นกันที่พุทธวิชาการ หรือพุทธปฏิบัติธรรมสายอื่นๆ อธิบายไม่ได้ว่า ความหมายที่ถูกต้องเป็นเช่นไร

ข้อความที่ว่านั้น ในการปฏิบัติธรรมตามสายวิชาธรรมกายพบดังนี้

หัวข้อธรรมะที่ว่า เป็นดวงกลมนั้น เป็นหัวข้อธรรมะที่ละเอียดสุด  หัวข้อธรรมะดังกล่าว เมื่อขยายส่วนหยาบขึ้นมาแล้ว บางหัวข้อธรรมะไม่ได้เป็นดวงกลมอีกแล้ว แต่มีรูปร่างไปตามลักษณะของหัวข้อธรรมะนั้นๆ เช่น กาย

กายของเรานี้ มีเป็นจำนวนมากมาย ทั้งหยาบและละเอียด ส่วนเล็กสุดจะเป็นดวงกลมใส ในการเป็น “ผู้มีธรรมอันหยั่งลงโดยรอบแล้ว” ในทางวิชาธรรมกายคือ การเห็นธรรมะหัวข้อนั้นๆ โดยรอบ คือ เห็นทีเดียวทั้งหมดทั้งนอก ใน ซ้าย ขวา บน ล่าง

การเห็นแบบนี้ จินตนาการไม่ได้ ต้องเป็นการเห็นจริงๆ ในการเห็นกายนั้น จะเห็นกายทั้งหมดทั้งกายเลย ทั้งข้างนอกข้างใน

ขอยกตัวอย่างคำถามของนักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นตัวอย่างประกอบ

ในการไปสอนการปฏิบัติธรรมตามสายวิชาธรรมกาย นักศึกษาคนหนึ่งถามว่า “ทำไม ผมเห็นพระในท้องทั้งด้านหน้าและด้านหลังพร้อมกัน”

การเห็นของนักศึกษาผู้นั้น ไม่ใช่เห็นเฉพาะด้านหน้าและด้านหลัง แต่เห็นพร้อมกันหมดทั้งกาย การเห็นเช่นนี้ เป็นการเห็นโดยรอบ

จะเห็นว่า ผู้ปฏิบัติธรรมตามสายวิชาธรรมกายนั้น จะสามารถเห็นธรรมะโดยรอบ เห็นเมื่อไร ก็จะรู้ไปโดยทันที เป็นอัตโนมัติ

การทั้งรู้ทั้งเห็นจึงทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมตามสายวิชา “นับถือพระพุทธศาสนา ด้วยความรู้ความเข้าใจชัดเจนของตัวเอง” โดยไม่ต้องถามใครอีกเลยอย่างแท้จริง

ในกรณีหมายถึง หัวข้อธรรมะนั้นๆ แต่หัวข้อธรรมะอื่นๆ ก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมจนกว่าจะบรรลุพระอรหันต์

ในการศึกษาหัวข้อธรรมะ ที่ยัง “ไม่รู้” และยัง “ไม่เห็น” ก็ยังต้องถามครูบาอาจารย์ก่อน แต่ความลังเลสงสัยในศาสนา หมดไปแล้ว....





อตักกาวจโร-เดาเอาไม่ได้


ในบทความ “ธรรมะเห็นได้ยาก” และ “ลักษณะของธรรมะ” ผมได้สรุปไว้ว่า

พุทธวิชาการยอมรับว่า เราสามารถ “เห็น” ดวงธรรมได้ และมีผู้มีดวงตาเห็นธรรมจำนวนมาก แต่พุทธวิชาการไม่สามารถอธิบายได้ว่า ผู้มีดวงตาเห็นธรรมนั้น เห็นอย่างไร และธรรมะมีรูปร่างอย่างไร

สายวิชาธรรมกายสามารถอธิบายได้ว่า ดวงธรรมมีลักษณะเป็นดวงกลมทั้งสิ้น มีขนาดและความละเอียดแตกต่างกันไป

ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดก็คือ สี สีของดวงธรรมะจะเป็นการบอกประเภทเลยว่า ธรรมะหัวข้อนั้น เกี่ยวกับเรื่องอะไร เช่น ดวงตายจะมีลักษณะเป็นสีดำสนิท ดวงแก่ก็มีสีไปทางดำ แต่ไม่ดำร้อยเปอร์เซนต์อย่างดวงตาย เป็นต้น

เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมตามสายวิชชาธรรมกาย เห็นธรรมะนั้น เป็นการเห็นธรรมะโดยรอบ เห็นเมื่อไร ก็จะรู้ไปโดยทันที เป็นอัตโนมัติ

การทั้งรู้ทั้งเห็นจึงทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมตามสายวิชชา “นับถือพระพุทธศาสนา ด้วยความรู้ความเข้าใจชัดเจนของตัวเอง” โดยไม่ต้องถามใครอีกเลยอย่างแท้จริง

ในบันทึกนี้ จะอธิบายลักษณะของพระธรรม ประการที่ 6 จาก 8 ประการ คือ

1) คัมภีโร ลึกซึ้ง
2) ทุททโส เห็นได้ยาก
3) ทุรนุโพโธ ตรัสรู้ตามได้ยาก
4) สันโต สงบระงับ
5) ปณีโต ประณีต
6) อตักกาวจโร ไม่เป็นสิ่งที่ลงเที่ยวแห่งความตรึก คือ เดาเอาไม่ได้
7) นิปุโณ ละเอียดอ่อน
8) ปัณฑิตเวทนีโย อันบัณฑิตพึงรู้ได้ คือ ไม่เหลือวิสัยของผู้มีปัญญา

คุณสุชีพเคยอธิบายประเด็นเกี่ยวกับ “อตักกาวจโร” ไว้ในหลายแห่ง เช่น มีผู้ถามคุณสุชีพว่า

“นิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีเหตุ นิพพานมีลอยๆ ได้หรือไม่ สิ่งที่มีย่อมมาจากสิ่งที่มี สิ่งที่ไม่มี ก็ต้องเป็นสิ่งที่ไม่มี เหตุที่ทำให้พระนิพพานมีหรือไม่? (ผู้ถาม : สุชาติ กอไพศาล)

คุณสุชีพได้ตอบคำถามดังกล่าว ดังนี้

การตอบเรื่องนี้ นอกจากจะขออ้างพระพุทธภาษิตประกอบ 3 แห่งแล้ว จะขออธิบายเปรียบเทียบบางประการ

พระพุทธาษิตแห่งแรก (4/7/8)

“ธรรม นี้ เราบรรลุแล้ว ลึกซึ้ง เห็นได้โดยยาก ตรัสรู้ตามได้โดยยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นที่ลงเที่ยวแห่งความตรึก (อตักกาวจโร) ละเอียดอ่อน แต่บัณฑิตรู้ได้” แสดงว่าจะใช้ตรรกวิทยาเป็นเครื่องกำหนดไม่ได้

พระพุทธภาษิตที่ 2 (25/158/206)

“ดู ก่อนภิกษุทั้งหลาย! อายตนะนั้นมีอยู่ แต่ในอายตนะนั้น ไม่มีธาตุทั้ง 4 ไม่มีอากาสานัญจายตนะ...ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่พระจันทร์ พระอาทิตย์

ไม่มีการมาก ไม่มีการไป ไม่มีการตั้งอยู่ ไม่มีการจุติไป ไม่มีการเกิดขึ้น ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีความเป็นไป ไม่มีอารมณ์ นี้คือที่สุดแห่งทุกข์”

พระพุทธภาษิตที่ 3 อยู่ในหน้าถัดไป (25/160/207)

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! สิ่งที่ไม่เกิด, ไม่เป็น, ไม่มีใครทำ, ไม่มีอะไรปรุงแต่งมีอยู่ เพราะถ้าไม่มี ก็จะมีความหลุดพ้นจากสิ่งที่เกิด ที่เป็น ที่ใครทำ มีอะไรปรุงแต่งไม่ได้”

จากพระพุทธภาษิตทั้ง 3 แห่งที่อ้างมานี้ เป็นการแสดงสถานภาพของพระนิพพาน ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับการเก็งความจริงในทางตรรกวิทยา ที่ว่ามีลอยๆ หรือมีอะไรเป็นเหตุให้มี เป็นต้น

จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น นั้น แสดงว่า หัวข้อธรรมะของศาสนาพุทธนั้น เป็นความจริง (truth) แล้ว ไม่มีความเกี่ยวข้องกับตรรกวิทยาหรือระบบเหตุผลของตะวันตกแต่อย่างใด

ไม่ต้องมาพิสูจน์โดยหลักวิชาการใดๆ อีกแล้ว

ขออธิบายเพิ่มเติมใน เรื่องตรรกวิทยา (logic) ว่า ตรรกวิทยานั้น เป็นเครื่องมือในการค้นหาความจริง (truth)

ตัวตรรกวิทยาเองไม่เนื้อหาวิชา เป็นแต่ วิธีการ เท่านั้น

ดังนั้น สิ่งที่เป็นความจริง (truth) แล้ว ก็ไม่ต้องหาเหตุผลมาประกอบเพื่ออธิบาย ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนถามว่า ทำไมดาวฤกษ์และดาวพระเคราะห์ เช่น ดวงอาทิตย์ โลก ดวงจันทร์ จึงเป็นรูปทรงกลม?

ไม่รู้จะมีนักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบเพื่อ อธิบายหรือให้เหตุผลหรือเปล่า เรื่องนี้ตอบในทางศาสนาพุทธง่ายมากคือ “ตถตา” มันเป็นเช่นนั้นเอง

ก็มันกลมของมันอย่างนั้น ไม่เห็นจะต้องไปหาเหตุผลมาอธิบายให้ปวดหัวทำไม

ประเด็นที่ผมจะกล่าวในที่นี้ก็คือ พุทธวิชาการ เช่นคุณสุชีพนั้น เมื่ออธิบายถึงหัวข้อธรรมะอื่นๆ กลับไม่ยึดถือคำตอบที่ว่า

“ธรรมะเป็นความจริง (truth) แล้ว” กลับไปยกย่อง “เหตุผล” ว่า เป็นสิ่งดีเลิศประเสริฐศรี

จนถึงกลับกล้าประกาศออกมาว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีเหตุผล” ตกลงพุทธวิชาการนี่ ท่านจะเอาอย่างไรแน่

ตัวอย่างที่ 1

มีผู้ถามคุณสุชีพว่า “การทำใจให้หนักแน่น ไม่ด่วนเชื่ออะไรง่ายๆ ไม่ซ้ำเติมใครง่ายๆ เป็นคำสอนเรื่องอะไรในพระพุทธศาสนา?

คุณสุชีพตอบว่า “เป็นคำสอนเรื่องโยนิโสมนสิการ คือ การทำไว้ในใจให้แยบคาย และการใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล”

ตัวอย่างที่ 2

มีผู้ถามคุณสุชีพในอีกแห่งว่า “การโทษสิ่งต่างๆ หรือบุคคลอื่นๆ ของผู้ที่ไม่ยอมรับว่าตัวผิดพลาดอะไรเลยนั้น ควรแก้ไขอย่างไร?

คุณสุชีพตอบว่า “ควรแก้ด้วย การใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล หรือที่เรียกว่า การทำในใจโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ไม่เข้าข้างตัวเองเกินไป ไม่โทษแต่คนเองหรือผู้อื่นฝ่ายเดียว

ตัวอย่างที่ 3

มีผู้ถามคุณสุชีพในเรื่อง ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญอนุศาสนีปาฏิหาริย์มากว่าอิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทสนาปาฏิหาริย์? หลายครั้ง ขอตัวอย่างคำตอบเพียงครั้งเดียวดังนี้

คุณสุชีพตอบว่า

ในบางพระสูตรเช่น เกวัฏฏสูตร (9/338/273) ทรงสรรเสริญอนุศาสนีปาฏิหาริย์ เพื่อชี้แจงให้ชายหนุ่มผู้ปรารถนาดี ซึ่งมาขอให้ส่งพระสาวกผู้เชี่ยวชาญทางฤทธิ์ไปสั่งสอนเพื่อดึงดูดให้มานับถือ ศาสนาพุทธ

ทรงชี้แจงว่า การสั่งสอนได้เป็นอัศจรรย์ สำคัญมากกว่าการแสดงฤทธิ์ (อิทธิปาฏิหาริย์) และการดักทายใจเป็นอัศจรรย์ (อาเทสนาปาฏิหาริย์) เพราะคำสั่งสอนที่มีเหตุผล จะนำให้ประพฤติปฏิบัติได้เข้าถึงธรรมะ

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าไปเน้นเรื่องฤทธิ์ และการดักทายใจเป็นสำคัญ อาจจะมีผู้หลอกลวงเข้ามาทำความเสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนา

แต่ในที่อื่นทรงสรรเสริญภิกษุผู้มีอภินิการครบ 3 คือ ฤทธิ์อ่านใจได้ และ สั่งสอนมีเหตุผลว่า เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา หรือเป็นทักขิเณยบุคคล

รวมความว่า มิได้ทรงปฏิเสธอิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทสนาปาฏิหาริย์ ทรงยกย่องทั้ง 3 ปาฏิหาริย์ แต่ในบางกรณีจะไม่ทรงเน้นเรื่องฤทธิ์ ก็เพื่อต้องการให้เข้าถึงธรรมะอย่างมีเหตุผลไม่ติดในฤทธิ์ จะได้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมีเหตุผล

แล้วทรงแสดงเหตุผลว่า ปาฏิหาริย์ 2 ข้อแรก อาจมีผู้คัดค้านได้ว่า ผู้ที่เรียนคันธาริวิชชาและมณีวิชชา ก็อาจทำได้ สู้การสั่งสอนอย่างมีเหตุผลไม่ได้ พิสูจน์ง่ายๆ ว่า

ที่พระพุทธศาสนาสืบมาจนทุกวันนี้ ก็เพราะมีคำสอนมีเหตุผล อันอาจพิจารณาตามให้เห็นจริงได้

จากข้อความที่ยกไปข้างต้นทั้งหมด ท่านผู้อ่านอาจจะข้อสงสัยใน 2 ประเด็น

1) ทำไมคำอธิบายของพุทธวิชาการไม่อยู่กับร่องกับรอย กลับไปกลับมา ตกลงศาสนาพุทธไม่เกี่ยวข้องกับตรรกวิทยา หรือศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เป็นตรรกวิทยา คือ เป็นไปตามเหตุผล (logic)

2) ทำไมคำอธิบายของพุทธวิชาการจึงดูกลมกลืน ไม่แปลกแยก ผู้อ่านบางท่านยังเข้าใจประเด็นที่ผมกำลังจะชี้ให้เห็น

คำตอบ 1

พุทธวิชาการส่วนใหญ่แล้ว ไม่เชื่อในพระไตรปิฎกทั้งหมด แต่ไปเชื่อศาสตร์ตะวันตกมากกว่า

ศาสตร์ตะวันตกปัจจุบันนี้ เชื่อในระบบ “เหตุผลนิยม” แต่เป็นเหตุผลของชาวตะวันตกเท่านั้น วิทยาศาสตร์ก็อยู่ในระบบเหตุผลนิยม

องค์ความรู้ใดๆ ถ้าไม่เข้ากับระบบเหตุผลนิยมแล้ว องค์ความรู้นั้นไม่เป็นความจริง

ดังนั้น โหราศาสตร์ แพทย์แผนไทย จึงหายไปจากสังคมวิชาการนานมาแล้ว เพิ่งจะมาฟื้นตัวขึ้นใหม่ในเร็วๆ นี้

ดังนั้น คำสอนของศาสนาพุทธอันใดที่พยามยามลากเข้าสู่ระบบเหตุผลนิยมได้ ก็จะได้ลากถูลู่ถูกังเข้ามา 

คำอธิบายพระไตรปิฎกของพุทธวิชาการจึงดูพิลึกพิลั่น หัวมังกุท้ายมังกร ไม่รู้จะไปทางไหนแน่

แต่พุทธศาสนิกชนที่บูชาวิทยาศาสตร์ บูชาศาสตร์ตะวันตกก็เห็นดีเห็นงามตามกันไป

พุทธศนิกชนกลุ่มอื่นเช่น พุทธปฏิบัติธรรม พุทธทั่วไป ก็มองไม่ออก เพราะ มันดูกลมกลืนกันสนิทดี

คำตอบ 2

ศาสนาพุทธนั้น พระพุทธเจ้ายืนยันว่า ผลเกิดจากเหตุ ซึ่งข้อความนี้ ถ้าจะแปลให้ตรงภาษาอังกฤษแล้ว ไม่ตรงกับคำว่า เหตุผล (reason) ที่เป็นผลิตผลของวิชาตรรกวิทยา (logic) คือน่าจะตรงกับคำว่า cause และ effect มากกว่า

คือ ถ้ามีผลอะไรเกิดขึ้นมา ผลนั้นต้องมาจากเหตุใดเหตุหนึ่งเป็นแน่

การที่พุทธวิชาการพยายามอธิบายผลกับเหตุของศาสนาพุทธ ให้เป็นเหตุผล (reason)

พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จึงจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ไม่เข้าใจ ดังนั้น คำอธิบายของพุทธวิชาการจึงดูกลมกลืนดี

โดยสรุป

คุณลักษณะของธรรมะ ที่ว่า “อตักกาวจโร” เป็นหลักฐานยืนยันว่า องค์ความรู้ (body of knowledge) ของศาสนาพุทธเป็นความจริง (truth) แล้ว ไม่ต้องนำเหตุผล (reason) ของวิชาตรรกวิทยา (logic) ไปตรวจสอบอีกว่า ข้อความในพระไตรปิฎกมีความสมเหตุสมผลหรือไม่

พุทธวิชาการส่วนใหญ่หันไปสมาทานศาสตร์ตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ วิทยาศาสตร์ จึงปฏิเสธข้อความในพระไตรปิฎกเป็นจำนวนมาก ว่าเป็นไปไม่ได้ เช่น เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ เป็นต้น

คำอธิบายพระไตรปิฎกของพุทธ วิชาการจึงสับสน ลักลั่น ขัดแย้งกันเอง แต่พุทธวิชาการพยายามแยกย่อยแล้วอธิบายทีละส่วน ไม่ยอมอธิบายให้ครอบคลุมต่อเนื่องอย่างเป็นองค์รวม พุทธศาสนิกชนจึงมองไม่เห็นความบกพร่องเหล่านั้น